พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น รัชกาลที่ ๔ แห่งราชจักรีวงศ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า "เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมติเทวาวงศ์พงษ์อิศรกษัตริย์" เสด็จพระราชสมภพในวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ณ นิวาสสถานในพระราชนิเวศน์เดิม ด้านใต้ของวัดอรุณราชวราราม เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๔๓ และเป็นลำดับที่ ๒ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชสมบัติในวันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีกุน ยังเป็นโทศก พ.ศ. ๒๓๙๔ รวมดำรงสิริราชสมบัติ ๑๖ ปี ๖ เดือน และทรงมีพระราชโอรส - พระราชธิดารวมทั้งสิ้น ๘๒ พระองค์ พระองค์ท่านเสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรง เวลาทุ่มเศษ ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ รวมพระชนมพรรษา ๖๕ พรรษา วัดประจำรัชกาลของพระองค์คือ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงพระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ปีชวด ฉศก จุลศักราช 1166 ซึ่งตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 โดยมีพระนามก่อนมีพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระนามว่า "ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่" พระองค์เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เมื่อ พ.ศ. 2355 พระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ 9 พรรษา จึงได้จัดการพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระนาม โดยพระองค์ได้รับการเฉลิมพระนามในพระสุบรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติวงศ์ พงอิศวรกระษัตริย์ ขัติยราชกุมาร และได้จัดให้มีพระราชพิธีโสกันต์เมื่อปี พ.ศ. 2359
ทรงผนวช
เมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ 14 พรรษา จึงทรงออกผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยได้ประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ ทรงผนวชจนออกพรรษาแล้วจึงทรงลาผนวช หลังจากนั้น อีก 7 ปี จึงได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยได้รับพระนามฉายาว่า "วชิรญาโณ" หรือ "วชิรญาณภิกขุ" แล้วเสด็จไปจำพรรษาที่วัดราชาธิวาส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเคยประทับอยู่เมื่อทรงผนวช
ในขณะที่ทรงผนวชอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎทรงตัดสินพระทัยดำรงสมณเพศต่อไป ในระหว่างที่ทรงผนวชอยู่นั้นได้เสด็จออกธุดงค์ไปยังหัวเมืองต่างๆ ทำให้ทรงคุ้นเคยกับสภาพความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฏร์อย่างแท้จริง พระองค์ทรงพระราชอุตสาหะวิริยะเรียนภาษาอังกฤษจนทรงเขียนได้ ตรัสได้ ทรงเป็นนักปราชญ์รอบรู้ ทำให้พระองค์ทรงมีความรอบรู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ของโลกตะวันตกเป็นอย่างดี
ครองราชย์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ จึงได้ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่พระองค์ตรัสว่า ถ้าจะถวายพระราชสมบัติแก่พระองค์จะต้องอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นครองคราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่มีพระชะตาแรง ต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น พระองค์ได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฏว่า
"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏสุทธิ สมมุติเทพยพงศวงศาดิศรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฎิสาธุ คุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสาร สัสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพพิเศษ สิรินธรมหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิษิต สรรพทศทิศวิชิตวิไชย สกลมไหศวรินมหาสยามินทร มเหศวรมหินทร มหาราชาวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "
พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลรับพระบวรราชโองการ มีพระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชลัญจกรประจำพระองค์
พระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 4
พระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว ได้แก่ "พระมหาพิชัยมงกุฎ" หนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งการสร้างพระลัญจกรประจำพระองค์นั้น จะใช้แนวคิดมาจากพระบรมนามาภิไธยก่อนทรงราชย์ นั่นคือ "มงกุฏ" นั่นเอง โดยพระราชลัญจกรจะเป็นตรางา ลักษณะกลมรี ซึ่งประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ๒ ชั้น มีฉัตรบริวารตั้งขนาบทั้ง ๒ ข้าง ถัดออกไปจะมีพานแว่นฟ้า ๒ ชั้น ทางด้านซ้ายวางสมุดตำรา ซึ่งแสดงถึงทรงมีความเชี่ยวชาญทางด้านอักษรศาสตร์และดาราศาสตร์ ส่วนทางด้านขวาวางพระแว่นสุริยกานต์ เพชร ซึ่งมาจากพระฉายาเมื่อพระองค์ทรงผนวชว่า "วชิรญาณ"
พระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ยังได้ใช้เป็นแม่แบบของพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย
พระมเหสี เจ้าจอม พระราชโอรส และ พระราชธิดา
พระราชกรณียกิจ
พระราชกรณียกิจที่สำคัญที่ทรงปฎบัติระหว่างรัชกาลนี้
การริเริ่ม
โปรดให้มีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา พระราชวงศ์ เสนาบดี ทหารและพลเรือนทั้งหลายต่างดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาทั่วทุกคน พระองค์มิได้มีพระราชประสงค์ให้ข้าราชบริพาร ซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระองค์ฝ่ายเดียว แต่ทรงพระราชดำริว่าจะต้องทรงให้คำมั่นสัญญาต่อประชาชนของพระองค์ด้วยพระองค์จึงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่เสวยน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
พ.ศ. 2396 โปรดให้จัดทำพระราชพิธีบรรจุดวงพระชะตาพระนคร ลงในหลักเมืองที่โปรดให้ทำขึ้นใหม่ แทนหลักเมืองเก่าซึ่งยกขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 1 ซึ่งชำรุดทรุดโทรม
พ.ศ. 2400 โปรดให้สถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเป็นบำเหน็จความดีความชอบ
พ.ศ. 2401 โปรดให้ตั้งโรงพิมพ์หลวงขึ้นในวัง เรียกว่า "โรงราชกิจจานุเบกษา" เพื่อเสนอข่าวราชการเป็นครั้งแรก
พ.ศ. 2403 โปรดให้สร้างโรงกระษาปณ์ขึ้นที่หน้าพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง เพื่อผลิตเหรียญเงินราคาต่างๆ เพื่อใช้เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน ซื้อขายแลกเปลี่ยน แทนเงินอย่างเก่าคือพดด้วง ทรงพระราชทานนามว่า "โรงกษาปณ์สิทธิการ" นับเป็นโรงกษาปณ์แห่งแรกในเมืองไทย
พ.ศ. 2404 โปรดให้ตัดถนนและขุดคลองให้เป็นทางสัญจรอย่างใหม่ สำหรับชาวไทยและชาวต่างประเทศเหมือนกับประเทศที่เจริญแล้วทางยุโรป เช่น การสร้างถนนเจริญกรุงเป็นสายแรก ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร และ ถนนสีลม ส่วนคลองได้แก่ คลองผดุงกรุงเกษม คลองหวลำโพง คลองมหาสวัสดิ์ และคลองดำเนินสะดวก เป็นต้น
ในด้านวรรณคดี
ทรงเอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงเป็นอย่างดี พระราชนิพนธ์ส่วนใหญ่เป็นประเภทร้อยแก้ว บทพระราชนิพนธ์ที่สำคัญได้แก่
- ชุมนุมพระบรมราโชบาย 4 หมวดคือ หมวดวรรณคดี โบราณคดี ธรรมคดี และตำรา
- ตำนานเรื่อง พระแก้วมรกต เรื่องปฐมวงศ์
- ทรงริเริ่มให้มีการค้นคว้าศิลาจารึกในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก คือจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงและจารึกหลักที่ 4 ของพระยาลิไทย
ในด้านพระพุทธศาสนา
ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง โดยทรงตั้งธรรมยุตติกาวงศ์ขึ้น เป็นนิกายใหม่ในพระพุทธศาสนา ที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และระเบียบแบบแผน
ในด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกอย่างกว้างขวาง มีการทำสัญญากับต่างประเทศถึง 10 ประเทศ ทรงนำนโยบาย "ผ่อนสั้น ผ่อนยาว" มาใช้กับประเทศมหาอำนาจเป็นพระองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ อันทำให้ไทยสามารถดำรงเอกราชอยู่ได้จนทุกวันนี้ พระองค์ได้ส่งคณะทูตไทยโดยมีพระยามนตรีสุริยวงศ์เป็นราชทูต เจ้าหมื่นสรรเพ็ชภักดีเป็นอุปทูต หมื่นมณเฑียรพิทักษ์เป็นตรีทูต นำพระราชสาส์นไปถวายสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษนับเป็นความคิดริเริ่มให้มีการเดินทางออกนอกประเทศได้ เนื่องจากแต่เดิมกฎหมายห้ามมิให้ เจ้านาย พระราชวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่เดินทางออกจากพระนคร เว้นเสียแต่ไปในการสงครามกับกองทัพ
ทรงโปรดเกล้าให้ชาวต่างประเทศรับราชการเป็นกงสุลไทย เช่นเซอร์ จอห์น เบาริง อัครราชทูตของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย แห่งประเทศอังกฤษ เข้ามาทำสนธิสัญญากับประเทศไทยเป็นชาติแรก เมื่อ พ.ศ. 2398 ได้ทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาสยามานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ" เป็นกงสุลไทยประจำกรุงลอนดอน
พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ของไทย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักดาราศาสตร์ไทยผู้ยิ่งใหญ่ทรงการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำในวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ล่วงหน้า ๒ ปี และได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมเซอร์ แอร์รี่ ออร์ด เจ้าเมืองสิงคโปร์ คณะทูตานุทูต นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส แขกต่างประเทศอื่นที่ทรงเชิญมา และข้าราชบริพารไทย ทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งนั้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตรงตามที่พระองค์ทรงคำนวณไว้ทุกประการ พระอัจฉริยภาพของพระองค์เป็นที่เลื่องลือ ขจรขจายปวงชนชาวไทยถวายพระราชสมัญญานามทรงเป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"และเป็นที่มาของการสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอนุสรณ์สถานแด่พระองค์
จากคัมภีร์พุทธศาสนาเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ส่งอิทธิพลสำคัญต่อความคิดความเชื่อ ของผู้คนชาวไทย เรื่องภาพแห่งจักรวาล คือภพทั้ง ๓ แห่ง สวรรค์ มนุษย์ และบาดาล แต่สำหรับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพแห่งจักรวาลคือวิชาการดาราศาสตร์ยุคใหม่ของการศึกษาถึงความเป็นไปในเอกภพ ด้วยข้อมูลความจริงด้วยความคิดและเหตุผลโดยการศึกษาอย่างเป็นระบบระเบียบ ตามหลักการของวิทยาศาสตร์แผ่นดินในรัชสมัยของพระองค์จึงเป็นประตูสู่โลกยุคใหม่ การเสด็จพระราชดำเนินเพื่อพิสูจน์การเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ณ ตำบลหว้ากอ ถือเป็นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่และครั้งแรกของชาติไทย โดยพระองค์ท่าน ทรงเป็นผู้คำนวณด้วยพระองค์เองต่อหน้าคณะนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส และแขกเมืองชาวต่างประเทศ ถือเป็นการเสี่ยงต่อการสูญเสียพระเกียรติยศอย่างยิ่ง แต่พระองค์ก็ทรงกระทำการคำนวณได้ถูกต้องแม่นยำสมศักดิ์ศรีที่ชาวไทยคำนวณสุริยุปราคาได้แม่นยำมานานนัก ดังเช่นพญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ ทางด้านวิทยาศาสตร์ บริเวณโดยรอบจะแสดงเครื่องใช้ของพระองค์ ที่เกี่ยวกับดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งของที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน ได้นำมาตั้งแสดงให้พสกนิกรได้ชมอย่างใกล้ชิด
ลำดับประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของพระองค์
- พ.ศ. ๒๓๙๔
- โปรดเกล้าฯ ให้ขุนนางสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้า
- ร้อยเอกอิมเปญ์ เข้ามาฝึกทหารแบบยุโรป
- คณะมิชชันนารี สอนภาษาอังกฤษ ในพระบรมมหาราชวัง
- ร้อยเอกน๊อกซ์ เข้ามาเป็นครูฝึกทหารวังหน้า
- คณะมิชชันนารีอเมริกัน เข้ามาสอนภาษา
- กองทัพไทยไปตีเมืองเชียงตุง
- ทรงพระราชศรัทธาปฏิสังขรวัดใหม่ขึ้นหลายวัด เช่น วัดปทุมวนาราม วัดโสมนัสวิหาร วัดมกุฎกษัตริยาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม และวัดราชบพิตร เป็นต้น ตลอดจนบูรณะวัดต่าง ๆ อีกมาก
- โปรดเกล้าฯให้มีพระราชพิธี "มาฆบูชา" ขึ้นเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๓๙๔ ณ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนได้ถือปฏิบัติสืบมาจนถึงทุกวันนี้
- โปรดเกล้าฯให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก
- ทรงตั้งคณะธรรมยุตินิกายและวางรากฐานพระวินัย ทำให้พุทธศาสนาหยั่งยืนทุกวันนี้
- โปรดเกล้าฯให้ขยายพระนคร โดยขุดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นคูพระนครชั้นนอก
- โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนธงชาติเป็นรูปช้างเผือกอยู่กลางธงพื้นสีแดง
- พ.ศ. ๒๓๙๕
- โปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมตามแนวคลองผดุงกรุงเกษมขึ้น ๘ ป้อม
- ส่งราชทูตอัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้าฮำฮอง จักรพรรดิจีน
- ส่งคณะสงฆ์ไปลังกา
- พ.ศ. ๒๓๙๖
- โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์
- โปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรที่ได้รับเดือดร้อนถวายฎีกาแก่พระองค์ได้
- โปรดเกล้าฯ ให้ใช้ "หมาย" แทนเงินตรา
- ไทยรบพม่าที่เมืองเชียงตุง (เป็นสงครามครั้งสุดท้ายระหว่าง ไทย-พม่า)
- พ.ศ. ๒๓๙๘
- เซอร์ จอห์น เบาริง ขอเข้ามาเจริญพระราชไมตรี ทำสนธิสัญญาใหม่กับอังกฤษ
- พ.ศ. ๒๓๙๙
- ไทยทำสนธิสัญญาทางการทูตกับอเมริกาและฝรั่งเศส
- พ.ศ. ๒๔๐๐
- โปรดเกล้าฯ ให้ส่งคณะทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งอังกฤษ
- โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ขึ้นเป็นครั้งแรก
- โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองมหาสวัสดิ์และคลองถนนตรง
- เริ่มสร้างกำปั่นเรือกลไฟ
- ทรงประกาศให้พสกนิกรเข้าเฝ้าข้างทางขบวนเสด็จพระราชดำเนินได้
- พ.ศ. ๒๔๐๑
- ทำสนธิสัญญาทางการค้ากับโปรตุเกส
- โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ลพบุรี
- โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศราชการที่เรียกว่า หนังสือราชกิจจานุเบกษา
- พ.ศ. ๒๔๐๒
- โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนครคีรี (เขาวัง) ขึ้นบนยอดเขาที่เพชรบุรี
- โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์
- พ.ศ. ๒๔๐๓
- โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงกษาปณ์ผลิตเหรียญ
- พ.ศ. ๒๔๐๔
- โปรดเกล้าฯ ให้ส่งทูตไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส
- เริ่มมีตำรวจนครบาลเป็นครั้งแรก
- เริ่มสร้างถนนเจริญกรุง
- พ.ศ. ๒๔๐๕
- นางแอนนา ลีโอโนเวนส์ เข้ามารับราชการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในพระราชสำนัก
- พ.ศ. ๒๔๐๖
- สร้างถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร
- สร้างพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง)
- พ.ศ. ๒๔๐๗
- โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดราชประดิษฐ์
- พ.ศ. ๒๔๐๘
- พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
- พ.ศ. ๒๔๑๑
- โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมเรือกลไฟ
- ทรงคำนวณว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
- เสด็จสวรรคต
อ้างอิง
- ^ 1.0 1.1 อ. วิโรจน์ ไตรเพียร, 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี, สำนักพิมพ์ คลังศึกษา,2543,หน้า 38-50
- ^ 2.0 2.1 แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,หม่อมราชวงศ์, พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สำนักพิมพ์มติชน, 2549 ISBN 974-323-641-4
- ^ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากเวปไซต์รากฐานไทย ฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศ
- ^ ตราราชวงศ์จักรี และพระราชลัญจกร ประจำพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่าง ๆ จากเว็บไซต์ บ้านฝันดอตคอม
- ^ สนเทศน่ารู้ : พระราชลัญจกรประจำรัชกาล, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ^ วิวัฒนาการระบบการชำระเงนของไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่มา: www.royjaithai.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น