วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

สมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (โอรสสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

สมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (โอรสสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)


  



พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๖ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๓ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช ๒๔๕๓ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ รวมพระชนมพรรษา ๔๖ พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม ๑๖ ปี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า "สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า" พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ใน พระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน
พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งแรกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างแล้วเสร็จเมื่อพ.ศ. ๒๔๘๕ ประดิษฐาน ณ สวนลุมพินี ซึ่งเป็นบริเวณที่ดินส่วนพระองค์ ที่พระราชทานไว้เป็นสมบัติของประชาชน เพื่อจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์แสดงสินค้าไทยแก่ชาวโลกเป็นครั้งแรก เพื่อบำรุงเศรษฐกิจและพาณิชยกรรมของประเทศ (แต่มิทันได้จัดก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน) และทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าเมื่อเสร็จงานแล้ว จะพระราชทานเป็นสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจแห่งแรกในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ในวันคล้ายวันสวรรคตของทุกปี วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลา ถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ ณ สวนลุมพินีแห่งนี้ ในวันนั้นมีหน่วยราชการ หน่วยงานเอกชน นิสิตนักศึกษา พ่อค้าประชาชนจำนวนมากไปวางพวงมาลาถวายราชสักการะ และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย ณ วชิราวุธวิทยาลัย อีกด้วย
ใน พ.ศ. ๒๕๒๔ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก

พระนามเต็ม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเต็มว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานาถมหาสมมตวงศ์ อดิศัยพงศ์วิมลรัตน์วรขัตติราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณีจักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฏนเรนทร์สูรสันตติวงศวิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหาร อดิเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมสุขุมาลย์ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยวิเศษสรรพเทเวศรานุรักษ์ บุริมศักดิสมญาเทพวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุทธสมบัติ เสนางคนิกรรัตนอัศวโกศล ประพนธปรีชา มัทวสมาจาร บริบูรณคุณสารสยามาทินคร วรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร บรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษฏาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัยพุทธาธิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์ อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณา สีตลหฤทัย อโนมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว"
ต่อมาใน พ.ศ. 2459 ได้ทรงเปลี่ยนคำนำหน้าพระปรมาภิไธยของพระองค์เองใหม่ว่า "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ อรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานาถมหาสมมตวงศ์ ฯลฯ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว"

พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง พระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 โดยได้รับพระราชทานพระนามว่า "สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษย์บรมนราธิราช จุฬาลงกรณนาถราชวโรรส มหาสมมติขัตติยพิสุทธิ์ บรมมกุฎสุริยสันตติวงศ์ อดิศัยพงศ์วโรภโตสุชาติคุณสังกาศวิมลรัตน ทฤฆชนมสวัสดิ ขัตติยราชกุมาร" มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชาร่วมพระมารดา คือ
  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ (พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๔๓๐)
  2. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๒๓-๒๔๖๘)
  3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าตรีเพ็ชรุตม์ธำรง (พ.ศ. ๒๔๒๔-๒๔๓๐)
  4. จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (พ.ศ. ๒๔๒๕-๒๔๖๓)
  5. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ (พ.ศ. ๒๔๒๘-๒๔๓๐)
  6. พลเรือเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พ.ศ. ๒๔๓๒-๒๔๖๗)
  7. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๔๖๖) และ
  8. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๘๔)

พระคู่หมั้น พระมเหสี และพระสนม

  1. หม่อมเจ้าหญิงวัลลภาเทวี วรวรรณ พระคู่หมั้น ได้สถาปนาเป็น "พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี" แต่ภายหลังทรงถอนหมั้น และโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามว่า "พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี"
  2. หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ (นามเดิม ม.จ.หญิง วรรณวิมล วรวรรณ) พระขนิษฐาของพระองค์เจ้าวัลลภาเทวี หลังอภิเษกสมรส ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น "พระนางเธอลักษมีลาวัณ" แต่สุดท้ายประทับแยกกัน
  3. คุณเปรื่อง สุจริตกุล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งพระสนมเอกที่ "พระสุจริตสุดา"
  4. คุณประไพ สุจริตกุล (น้องของคุณเปรื่อง) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น "พระอินทราณี" พระสนมเอก ต่อมาได้รับสถาปนาพระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี" ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามว่า "สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา"
  5. คุณเครือแก้ว อภัยวงศ์ ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น เจ้าจอมสุวัทนา และได้รับพระราชทานสถาปนาเป็น "พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี" ในที่สุด

พระราชธิดา

มีเพียง ๑ พระองค์ ประสูติแต่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี คือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ประสูติ ณ วันอังคารที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง

สวรรคต

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรพระโรคพระโลหิตเป็นพิษในพระอุทรตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 และเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เวลา 1 นาฬิกา 45 นาที โดยได้อัญเชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทรวมพระชนมพรรษาได้ 46 พรรษา และเสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ 16 พรรษา

พระราชลัญจกรประจำพระองค์

พระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ พระวชิระ ซึ่งมาจากพระบรมนามาภิไธยก่อนทรงราชย์ นั่นคือ "มหาวชิราวุธ" ซึ่งหมายถึง สายฟ้าอันเป็นศาตราวุธของพระอินทร์ พระราชลัญจกรพระวชิระนั้น เป็นตรางา รูปรี กว้าง ๕.๕ ซ.ม. ยาว ๖.๘ ซ.ม. มีรูปวชิราวุธเปล่งรัศมีที่ยอด ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ๒ ชั้น มีฉัตรบริวารตั้งขนาบทั้ง ๒ ข้าง

ลำดับประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญ

  • พ.ศ. ๒๔๒๓
    • วันที่ ๑ มกราคม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูติ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
  • พ.ศ. ๒๔๓๑
    • เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธได้รับการสถาปนาเป็น กรมขุนเทพทวาราวดี
  • พ.ศ. ๒๔๓๖
    • เสด็จฯไปทรงศึกษาด้านนิติศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด และวิชาการทหาร ที่โรงเรียนนายร้อยแซนเฮิร์สต์ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ขณะนั้นพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา เป็นระยะเวลา ๙ ปี และได้เสด็จกลับจากอังกฤษผ่านสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น
  • พ.ศ. ๒๔๓๗
    • สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร รัชทายาทเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ สถาปนากรมขุนเทพทวาราวดีเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร สืบแทน
  • พ.ศ. ๒๔๔๗
    • เสด็จเยือนนครเชียงใหม่ โดยขึ้นรถไฟไปลงที่ปากน้ำโพแล้วต่อเรือล่องแก่ง ผ่านเมืองตากขึ้นไปถึงเชียงใหม่และในการเสด็จฯเยือนเชียงใหม่นี้ได้มีการสถาปนาโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย และ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๗ ด้วย
    • ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือลิลิตพายัพ
  • พ.ศ. ๒๔๕๐
    • ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังสนามจันทร์ที่นครปฐม
  • พ.ศ. ๒๔๕๒
    • เสด็จฯเยือนเมืองสวรรคโลก ขณะที่ยังทรงเป็นสมเด็จพระยุพราช
    • ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเที่ยวเมืองพระร่วง
    • เสด็จฯเยือนหัวเมืองปักษ์ใต้ ขณะที่ยังทรงเป็นสมเด็จพระยุพราช
    • ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือจดหมายเหตุเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘
  • พ.ศ. ๒๔๕๒
    • พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังพญาไท
  • พ.ศ. ๒๔๕๓
    • พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
    • บรรดาเชื้อพระวงศ์และข้าราชการชั้นสูงพร้อมใจกันอัญเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี พระนามว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
    • ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย)
    • ยกฐานะโรงเรียนมหาดเล็ก เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ต่อมาคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
    • เกิดภาวะวิกฤติทางการเงินที่ธนาคารสยามกัมมาจลทุนจำกัด จนต้องปลดผู้จัดการธนาคารสยามกัลมาจล ที่เป็นคนไทยออกไป ฐานก่อความวุ่นวายทางการเงินของธนาคารโดยการปล่อยกู้ไม่รู้ประมาณ แล้วยึดสวนสาธารณะซึ่งเป็นที่ของ ผู้จัดการธนาคารสยามกัลมาจลเพื่อชำระหนี้ ก่อนให้ นาย ปี. ชวาซ์ ผู้จัดการแผนกต่างประเทศซึ่งเป็นปรัสเซีย เข้าทำหน้าที่แทนโดยนำกำไรจากแผนกต่างประเทศ มาแซมทุนพอแก้ไขภาวะวิกฤตทางการเงินไปได้ —
  • พ.ศ. ๒๔๕๔
    • ๑ พฤษภาคม โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองเสือป่าซึ่งเป็นรากฐานของกรมการรักษาดินแดน หรือ หน่วยบัญชาการกำลังสำรองในปัจจุบัน
    • ๑ กรกฎาคม โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกองลูกเสือ
    • ๑๑ พฤศจิกายน จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีการเชิญราชวงศ์จากยุโรปและญี่ปุ่นให้เสด็จมาทรงร่วมการพระราชพิธีในกรุงสยาม นับเป็นการรับพระราชอาคันตุกะจำนวนมาก เป็นครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกของประเทศ
    • ๒๙ ธันวาคม ชาวตะวันตกนำเครื่องบิน (สมัยนั้นเรียกเครื่องเหาะ) มาบินครั้งแรกที่สนามม้าสระปทุม (สนามม้าราชกรีฑาสโมสร หรือ สนามฝรั่ง)
    • เกิดร.ศ. ๑๓๐ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง และหากไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จก็ต้องการลอบปลงพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ (นับอย่างใหม่ ปี พ.ศ. ๒๔๕๕) แต่สามารถจับกุมควบคุมสถานการณ์ได้
    • ทรงริเริ่มการศึกษาพระปริยัติธรรมใหม่ขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่ง เรียกว่า "นักธรรม" โดยมีการสอบครั้งแรกเมื่อ เดือนตุลาคม ๒๔๕๔ ตอนแรกเรียกว่า "องค์ของสามเณรรู้ธรรม"
    • สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเปลี่ยนวิธีการสอบบาลีสนามหลวงจากปากเปล่ามาเป็นข้อเขียน เป็นครั้งแรก
  • พ.ศ. ๒๔๕๕
    • โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมาใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) ในราชการแทนรัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.)
    • ตราพระราชบัญญัตินามสกุล แต่กว่าจะบังคับใช้ได้โดยสมบูรณ์กับราษฎรทุกคนก็เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไปแล้ว ในรัชกาลที่ ๖ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่ผู้ขอพระราชทานกว่า ๖,๐๐๐ นามสกุล
    • เกิดภาวะวิกฤตทางการเงิน ปี พ.ศ. ๒๔๕๖ เนื่องจากแบงค์จีนสยามทุนล้มละลาย ทำให้ฐานะทางการเงินของธนาคารสยามกัมมาจลและ บรรดาโรงสีข้าวตกอยู่ในภาวะคับขัน ด้วยเนื่องจาก
๑) เจ้าหน้าที่ของแบงค์จีนสยามทุนได้ยักย้ายเอาหนี้ไปใส่ในบัญชีของธนาคารสยามกัมมาจล และฉ้อโกงเอาทุนและกำไรของธนาคารธนาคารสยามกัมมาจลมาใส่แบงค์จีนสยามทุนโดยเลี่ยงภาษีด้วย
๒) แบงค์จีนสยามทุนจำกัด ได้ปล่อยกู้ให้โรงสีข้าวเป็นจำนวนมาก ถ้าฝนแล้ง ข้าวขาดแคลน โรงสีก็เสี่ยงกับธุรกิจตกต่ำ เมื่อแบงค์จีนสยามทุน ตกอยู่ในภาวะล้มละลาย เจ้าของโรงสีพากันขาดแห่งเงินกู้เพื่อดำเนินหรือฟื้นฟูกิจการต่อไปได้
  • พ.ศ. ๒๔๕๗
    • ตั้งกองบินขึ้นในกองทัพบก
    • เริ่มสร้างสนามบินดอนเมือง และเปิดใช้งานในวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗
    • เปิดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
    • ตั้ง วชิรพยาบาล
    • เริ่มให้บริการน้ำประปา เมื่อ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗
    • ตั้งโรงเรียนพยาบาลของสภากาชาดไทย
    • ตั้งเนติบัณฑิตยสภา
    • มีพระบรมราชานุมัติให้กู้ยืมเงินเพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้ จากรัฐบาลสหรัฐมลายูเพิ่มอีก ๗๕๐,๐๐๐ ปอนด์ ตามคำกราบบังคมทูลของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรวรฤทธิ์ เนื่องจากเงินกู้ ๔ ล้านปอนด์เพียงพอสำหรับทางรถไฟสายใต้ที่เชื่อมฝั่งตะวันตก ตามความต้องการของพ่อค้าจีน พ่อค้าแขกเมืองปีนังเท่านั้น แต่ไม่พอสำหรับทางรถไฟผ่านมณฑลปัตตานีไปเชื่อมทางรถไฟที่ฝั่งกลันตัน
    • เดือนสิงหาคม เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑
  • พ.ศ. ๒๔๕๘
    • เสด็จฯ เยือนหัวเมืองปักษ์ใต้ ครั้งแรกหลังจากเสวยราชย์ แม้ทางรถไฟสายใต้ยังไม่เชื่อมต่อกันสมบูรณ์
    • เริ่มการสร้างสะพาน ๕ หอ (สะพานปางหละ) หลังจากได้รับสะพานหอสูงซึ่งเป็นเครื่องเหล็กจากปรัสเซีย
  • พ.ศ. ๒๔๕๙
    • ๑ เมษายน เลิกหวย ก.ข.
    • ๒๖ กุมภาพันธ ทดลองจัดตั้งสหกรณ์เป็นแห่งแรก ที่ วัดจันทร์ จังหวัดพิษณุโลก
    • ๑ เมษายน ทางรถไฟสายใต้เชื่อมกันตลอด ที่ชุมพร
    • ๒๕ มิถุนายน เปิดสถานีรถไฟหลวงกรุงเทพ ที่หัวลำโพง หลังจากที่ดำเนินการขยายสถานีกรุงเทพตั้งแต่เดือนมิถุนายน
    • สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ (นับอย่างใหม่ต้องเข้าปี พ.ศ. ๒๔๖๐)

    ทหารอาสาของไทย ร่วมเดินสวนสนามสวนสนามฉลองชัยชนะ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ประตูชัย ณ นครปารีส วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2461
    • พ.ศ. ๒๔๖๐
      • แต่งตั้งกรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธินขึ้นเป็นเจ้ากรมรถไฟหลวง เมื่อ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ แทนเจ้ากรม หลุยส์ ไวเลอร์ ชาวปรัสเซีย เพื่อจัดการรวมกรมรถไฟหลวงสายเหนือ และ กรมรถไฟหลวงสายใต้เข้าด้วยกัน และ เพื่อกำจัดอิทธิพลเยอร์มันออกไปด้วย
      • ๒๒ กรกฎาคม ทรงประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑กับฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง คือ เยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี มีการ ปลดเจ้าหน้าที่ชาวปรัสเซียและออสเตรียออกจากตำแหน่ง ทั้งในกรมรถไฟและในธนาคารสยามกัมมาจล พร้อมสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชนชาติศัตรู ซึ่งกว่าจะถอนออกได้ก็ปี พ.ศ. ๒๔๗๑
      • เกิดเหตุน้ำท่วมปีมะเส็ง ทางรถไฟขาดหลายช่วง ต้องหยุดการเดินรถ ๔ - ๕๗ วัน
      • เสด็จฯ เยือนหัวเมืองปักษ์ใต้ ครั้งที่ ๒ คราวนี้เสด็จมณฑลภูเก็ต และ เป็นครั้งแรกที่ใช้รถพระที่นั่งโบกี้ ที่สั่งเข้ามาใหม่จากอังกฤษ ที่มาแทนรถพระที่นั่ง ๔ ล้อ
      • เปลี่ยนธงชาติ จากธงช้างเผือกมาเป็นธงไตรรงค์
      • ตั้งกรมมหาวิทยาลัย
      • เลิกการพนันบ่อนเบี้ย
      • เปลี่ยนแปลงการนับเวลาให้สอดคล้องกับสากล คือใช้คำว่า ก่อนเที่ยง (ก.ท. - AM) และหลังเที่ยง (ล.ท. - PM)
      • แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหาร
      • กำหนดคำนำหน้านามสตรี จากอำแดงเป็นนางและ นางสาวตามธรรมเนียมสากล
      • ออกพระราชบัญญัติห้ามส่งเงินแท่งและเหรียญบาทออกนอกประเทศ เนื่องจากเนื้อเงินแพงกว่าหน้าเหรียญทำให้มีคนหากำไรโดยการลักลอบหลอมเหรียญบาทเป็นเงินแท่งส่งไปขายเมือง จนต้องลดความบริสุทธิ์เนื้อเงินจาก เงิน ๙๐ ทองแดง ๑๐ เป็น เงิน ๕๐ ทองแดง ๕๐ แม้ที่สุดจะแก้เป็น เงิน ๖๕ ทองแดง ๓๕
      • ๑ เมษายน รถไฟหลวงไปถึงสถานีนาประดู่ (สถานีสำคัญระหว่างจังหวัดปัตตานีและยะลา)
    • พ.ศ. ๒๔๖๑
      • ๖ เมษายน เปลี่ยนนามพระพุทธปรางค์ปราสาท เป็นปราสาทพระเทพบิดร
      • ตั้งดุสิตธานี ทดลองการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย พร้อมออกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต และ ดุสิตสมัย
      • ตราธรรมนูญลักษณะการปกครองคณะนคราภิบาล
      • ตราพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ ฉบับแรก
      • ตั้งกรมสาธารณสุข
      • ส่งทหารไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในยุโรป เมื่อได้รับชัยชนะจึงเป็นเหตุให้สยามมีอำนาจเจรจาต่อรองขอแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ได้ทำไว้แต่รัชกาลก่อนๆ ได้
      • อุโมงค์ขุนตานทะลุถึงกันสำเร็จ
      • เริ่มใช้ธนบัตร ๑ บาท ตราครุฑ แทนการใช้เหรียญกษาปณ์เงิน ๑ บาท ที่ถูกยกเลิกไม่ให้ใช้เป็นที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายตแห้เก็บเหรียญบาทเป็นทุนสำรองเงินตราซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้ขายเหรียญบาทเงินแล้วเอาเงินดอลลาร์สหรัฐ ไปซื้อทองคำแท่ง ในราคา ๓๕ ดอลลาร์ ต่อทองคำแท่ง ๑ออนซ์
      • ๑ กรกฎาคม รถไฟหลวงสายใต้ เปิดเดินได้ถึงปาดังเบซาร์ โดยให้กรมรถไฟสหพันธรัฐมลายูเป็นผู้รับผิดชอบเนื่องจากสถานีปาดังเบซาร์อยู่ในเขตแดนมลายู (ห่างจากหลักเขตกรุงสยามไปทางใต้ประมาณ ๓๐๐ เมตร) แล้วให้แบ่งรายได้และค่าใช้จ่ายกับกรมรถไฟหลวง ครึ่งหนึ่ง
    • พ.ศ. ๒๔๖๒
      • ประกาศให้ วันที่ ๖ เมษายนเป็นวันจักรี และ ให้ถือว่าเป็นวันชาติในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช
      • วางระเบียบการเรียกเก็บเงินรัชชูปการ ซึ่งเป็นการเสียเงินปีละ ๖ บาท ในยุคที่ข้าวสารถังละ ๕๐ สตางค์ ซึ่งถ้าเสียรัชชูปการแล้วก็จะมีการออกตั๋วสีเหลืองขนาดเท่าตั๋วจำนำ พิมพ์คำว่า "๖ บาท" ตัวโตๆ ถ้าไม่เสียรัชชูปการ (หรือเสียค่าตั๋วส่วย) ก็โดนส่งไปทำงานโยธา พวกที่ต้องยกเว้นไม่ต้องเสียรัชชูปการคือ พวกเจ้านายตั้งแต่ระดับพระองค์เจ้าขึ้นไป ทหารตำรวจ และประชาชนที่ผ่านการเกณฑ์ทหารแล้ว
      • เริ่มการใช้เวลามาตรฐาน (+๗ ชั่วโมงเมื่อที่ยบกับเวลามาตรฐานกรีนิช)
      • เกิดภาวะฝนแล้ง ทำให้ข้าวตายเป็นจำนวนมาก ถึงขั้นต้องขุดหัวมัน หัวเผือก หัวกลอยและ เก็บขุยไผ่ (เมล็ดต้นไผ่ที่ร่วงมาเมื่อไผ่ออกดอกก่อนจะแห้งตาย) กินประทังชีวิต จนรัฐบาลต้องประกาศ พระราชกำหนดห้ามการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ ซึ่งจะยกเว้นเฉพาะข้าวที่ได้มีการทำสัญญาการซื้อขายไว้ก่อนหน้าการประกาศพระราชกำหนด
      • ทหารไทยได้รับชัยชนะกลับจากงานพระราชสงครามในทวีปยุโรป
      • ๒๐ ตุลาคมสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จสวรรคต ณ วังพญาไท
      • โปรดเกล้าฯให้พิมพ์คัมภีร์อรรถกถาแห่งพระไตรปิฎกและอรรถกถาชาดก และคัมภีร์อื่น ๆ เช่นวิสุทธิมรรค มิลินทปัญหา เป็นต้น
      • ทรงนิพนธ์หนังสือแสดงหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง เช่น เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เป็นต้น ทรงอบรมสั่งสอนธรรมะแก่ข้าราชการ และข้าราชสำนักด้วยพระองค์เอง
      • เริ่มการสร้างสะพานทาชมพู
    • พ.ศ. ๒๔๖๓
      • แก้ไขสนธิสัญญาใหม่กับสหรัฐอเมริกาสำเร็จเป็นประเทศแรก
      • เปิดการขนส่งไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศระหว่าง กรุงเทพ - นครราชสีมา
      • สตรีในพระราชสำนัก เริ่มนุ่งซิ่น ไว้ผมยาว
      • เริ่มการสร้างสะพาน ๒ หอ (สะพานปางยางใต้) สะพาน ๓ หอ (สะพานปางยางเหนือ) หลังจากที่ล่าช้าเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้ส่งเครื่องเหล็กมากรุงสยามไม่ได้ ก่อนหน้านั้นต้องสร้างสะพานไม้ซึ่งต้องจำกัดความเร็วไว้ที่ ๕ กม/ชม.
      • รถไฟหลวงสายใต้ เปิดเดินได้ถึงตันหยงมัส (สถานีซึ่งอยู่ใกล้ เมือง นราธิวาสเก่าที่ อำเภอ ระแงะ แต่มีถนนไปที่ เมืองนราธิวาสใหม่ที่บางนรา)
      • เริ่มติดตั้งรถเสบียงในขบวนรถไฟ
      • ตั้งกระทรวงพาณิชย์เพื่อแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเนื่องจากฝนแล้งปี พ.ศ. ๒๔๖๒ โดยโปรดฯ ให้ พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงจันทบุรีนฤนาถ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท) เป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์
      • สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอผู้ทรงเป็นพระรัชทายาท (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ) เสด็จทิวงคตจากอาการไข้หวัดใหญ่ ขณะเสด็จไปประทับพักผ่อนพระวรกายที่สิงคโปร์ เมื่อ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓ เวลา ๑๓ นาฬิกา ๕๐ นาที หลังออกจากเสด็จจากกรุงสยามเมื่อ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓ ต่อมาได้เชิญพระศพกลับกรุงสยามด้วยรถไฟขบวนพิเศษ
      • พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระบิดาแห่งกฎหมายไทย) สิ้นพระชนม์ ด้วยโรควัณโรคที่พระวักกะ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ หลังทรงพระประชวร ทรงระบุว่ามีพระอาการปวดพระเศียรขั้นคิดอะไรไม่ออก มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้จัดการถวายพระเพลิงพระศพที่กรุงปารีสแล้วเชิญพระอัฐิกลับกรุงสยามในเวลาต่อมา
    • พ.ศ. ๒๔๖๔
      • ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา ฉบับแรก บังคับใช้ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๔
      • กำหนดคำนำหน้านาม เด็ก เป็นเด็กชาย เด็กหญิง
      • รถไฟหลวงสายใต้ เปิดเดินได้ถึงสุไหงโกลก เมื่อ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔ โดยให้กรมรถไฟหลวงเป็นผู้รับผิดชอบเนื่องจากสถานีสุไหงโกลกอยู่ในเขตแดนสยาม (ห่างจากหลักเขตกรุงสยามริมฝั่งแม่น้ำโก - ลกประมาณ ๑๓๐๐ เมตร) แล้วให้แบ่งรายได้และค่าใช้จ่ายกับกรมรถไฟสหรัฐมลายู ครึ่งหนึ่งตามข้อกำหนดในสนธิสัญญา
      • รถไฟหลวงสายเหนือ เปิดเดินได้ถึงเชียงใหม่ เมื่อ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ (นับอย่างใหม่ต้อง พ.ศ. ๒๔๖๕)
      • เริ่มเดินรถไฟด่วนสายใต้ (สมัยนี้เรียกว่ารถด่วนพิเศษระหว่างประเทศ) ทุกวันจันทร์ ตั้งแต่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ (นับอย่างใหม่ต้อง พ.ศ. ๒๔๖๕)
      • โปรดฯ ให้จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ เสด็จประกอบพิธีเริ่มการก่อสร้างทางรถไฟ สายตะวันออก ที่สถานีแปดริ้วใหม่ (กม. ๖๑) เมื่อ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๔ (นับอย่างใหม่ต้อง พ.ศ. ๒๔๖๕)
      • สภากาชาดไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตสภากาชาด
    • พ.ศ. ๒๔๖๕
      • ตราข้อบังคับลักษณะการปกครองหัวเมืองชั่วคราว ซึ่งมีผลทำให้ยุบกระทรวงนครบาลเข้ากับกระทรวงมหาดไทย แล้วแปรสภาพกระทรวงนครบาลเป็น มณฑลกรุงเทพ (หรือกรุงเทพมหานคร) ซึ่งประกอบด้วย พระนคร ธนบุรี นนทบุรี สมุทรสาคร พระประแดง และ สมุทรปราการ
      • สถาปนากรมตำรวจเมื่อ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๕
      • เปิดสถานเสาวภา หลังจากที่ได้พระราชทานนามใหม่แทนชื่อเดิมว่า "ปาสตุรสภา"
      • เริ่มเดินรถด่วนเชียงใหม่ (สมัยนั้นเรียกว่ารถด่วนสายเหนือ) เมื่อ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๕ สัปดาห์ละ สองครั้งเพราะคนนิยมมาก เพราะใช้เวลาเพียง ๒๕ ชั่วโมง ๓๐ นาทีก็ถึงเชียงใหม่แทนที่จะเป็น ๓ วัน เหมือนแต่ก่อน
      • เริ่มนำรถนอนมาใช้กับขบวนรถด่วนสายใต้ เมื่อ ๑ พฤษภาคม ๒๔๖๕
      • ตั้งกองโฮเต็ลและรถเสบียงเพื่อคุมคุณภาพการบริการอาหารและโรงแรมที่พักในกรมรถไฟ
      • เริ่มสร้างสะพานพระรามหก เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ โดยบริษัทไดเดย์จากฝรั่งเศสเป็นผู้รับเหมา
      • งบประมาณขาดดุลมากต้องกู้เงิน ๒ ล้านปอนด์ ดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ต่อปี จากอังกฤษ
    • พ.ศ. ๒๔๖๖
      • ประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ครั้งแรก
      • ตั้งสถานีอนามัย
      • ให้กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธินและพระชายาเสด็จไปวางหีบพระฤกษ์สร้างสะพานพระราม ๖ เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๖
      • เริ่มให้บริการโฮเตลรถไฟหัวหิน (ปัจจุบันคือโรงแรมโซฟิเทลหัวหิน)
      • ออกพระราชกฤษฏีกา เวนคืนที่ทำทางรถไฟจากโคราชไปขอนแก่น เมื่อ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖
      • เปิดสายการบิน นครราชสีมา - ร้อยเอ็ด - อุดรธานี - หนองคาย
      • แก้ไขสนธิสัญญาใหม่กับญี่ปุ่นสำเร็จเป็นประเทศที่ ๒
      • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ สิ้นพระชนม์
      • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิ้นพระชนม์ ที่ตำหนัก ณ หาดทรายรี จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖
      • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง วัดเลียบ) และเป็นผู้ชำนาญการในการทรงฮาร์พ (พิณฝรั่ง) คนแรกในกรุงสยาม เสด็จทิวงคต ณ วังเพ็ชรบูรณ์ (ปัจจุบันคือเซ็นทรัลเวิร์ด) เมื่อ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๖
    • พ.ศ. ๒๔๖๗
      • เสด็จเยือนสหรัฐมลายูและสิงค์โปร์โดยทางรถไฟพร้อมด้วยเจ้าจอมสุวัทนา (ต่อมาคือพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี)
      • ส่งคณะทูตพิเศษนำโดยพระยากัลยาณไมตรีไปเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับนานาชาติ
      • ตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗
      • เกิดอุบัติเหตุขณะก่อสร้างสะพานพระราม ๖ ถังเคซองทำฐานราก ลอยออกมานอกเป้าหมาย ทำให้ต้องกู้ถังเคซองที่จมผิดที่ก่อนจะลงถังเคซองที่ใช้ทำฐานรากสะพานใหม่
      • พระราชทานอภัยโทษให้ปล่อยนักโทษคดีกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ ที่ต้องคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต เมื่อ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ แต่กว่าจะพ้นมลทินก็หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
      • โปรดฯ ให้จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จเปิดทางรถไฟจาก ฉะเชิงเทรา (สถานีแปดริ้วใหม่ - กม. ๖๑) ถึงสถานีกบินทร์บุรี (เมืองระหว่างทางจากโคราชไปจันทร์บุรี) ระยะทาง ๑๐๐ กิโลเมตร เมื่อ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗ (นับอย่างใหม่ พ.ศ. ๒๔๖๘)
      • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา พระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้าของวังสวนกุหลาบเสด็จทิวงคตด้วยอาการปัปผาสะบวม เมื่อ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ (นับอย่างใหม่ต้อง พ.ศ. ๒๔๖๘) —
      • ปัญหางบประมาณขาดดุลยังไม่บรรเทา จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มอีก ๓ ล้านปอนด์ ดอกเบี้ยร้อยละ ๖ ต่อปี ทำให้ต้องเริ่มกระบวนการตัดทอนงบประมาณ และลดจำนวนข้าราชการออกไป อย่างน้อยร้อยละ ๑๐
    • พ.ศ. ๒๔๖๘
      • แก้ไขสัญญากับประเทศในภาคพื้นยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศสสำเร็จแม้จะมีอุปสรรคคือ มีการฆาตกรรมภรรยาท่านทูตฝรั่งเศสประจำกรุงสยามขณะดำเนินการเจรจา
      • มีพระราชพินัยกรรม เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ โดยมีรายละเอียดโดยสรุปได้ดังนี้
        • พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ถูกตัดออกจากสายการสืบราชสันตติวงศ์ด้วยมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช มีพระมารดาผู้ไม่เป็นที่พึงเคารพเพราะเป็นสามัญชน
        • หากพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งทรงพระครรภ์อยู่ ประสูติพระราชโอรส ก็ให้พระราชโอรสได้สืบราชสมบัติต่อไป
        • แต่ถ้าไม่มีพระราชโอรสก็มีพระราชประสงค์ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ทรงรับเป็นรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาล
        • ถ้าพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี สิ้นพระชนม์เมื่อไร ให้ พระมหากษัตริย์ผู้ครองราชสมบัติ เชิญพระโกศบรรจุพระอัฐิในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประดิษฐานคู่พระโกศพระบรมอัฐิของพระองค์ เหตุผลหนึ่งที่ทรงพระมหากรุณายิ่ง ก็เนื่องจากพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้ทรงพระอุตสาะขึ้นเฝ้าถวายงานขณะที่พระองค์ขณะทรงพระประชวรโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ทั้งๆ ที่ยังทรงพระครรภ์อยู่
        • ไม่โปรดให้ สมเด็จฯ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งในคณะผู้สำเร็จราชการ ในกรณีที่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์ผู้ยังทรงพระเยาว์ เนื่องจากพระองค์ไม่พอพระทัยที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปล่อยให้นายเวสเตนการ์ต ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ยก ๔ รัฐมลายูให้อังกฤษ แลกกับเงินกู้สร้างทางรถไฟสายใต้
      • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤดาภินิหาร กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ (ต้นราชสกุลกฤดากร) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน สิ้นพระชนม์ที่วังมะลิวัลย์ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๘
      • ขยายเส้นทางรถรางจากยศเส ผ่านถนนพระราม ๑ ไป ประตูน้ำ จากแยกบางรักไป ประตูน้ำ โดยผ่านถนนสีลมและถนนราชดำริ เพื่อรองรับงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ที่จะจัดขึ้นที่ทุ่งศาลาแดง (สวนลุมพินี) ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘
      • เกิดพายุหมุน ทำลายสิ่งก่อสร้างในทุ่งศาลาแดงที่จะเป็นอาคารประกอบงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์
      • วันอังคารที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในรัชกาลที่ ๖
      • เสด็จสวรรคต เมื่อเวลา ๗ ทุ่ม ๔๕ นาที (๑ นาฬิกา ๔๕ นาที) ของวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๖๘ หลังจากที่ทรงพระประชวรด้วยอาการพระอันตะ (ลำไส้) ทะลุ จากแผลผ่าตัดพระนาภีที่เกิดอาการอักเสบขั้นทะลุบริเวณพระนาภี (ผิวหนังหน้าท้อง)
      • พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน เป็นวันคล้ายวันสวรรคตในรัชกาลที่ ๖ และทรงกำหนดให้วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน เป็นวันคล้ายวันเถลิงราชย์ของพระองค์
      • พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบรรจุพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไว้ใต้ฐานพุทธบัลลังก์ พระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร และใต้ฐาน พระร่วงโรจนฤทธิ์ ณ พระวิหารด้านทิศเหนือ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เมื่อ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๙

    อ้างอิง

    1. ^ การก่อพระฤกษ์โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
    2. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เฉลิมพระปรมาภิไธย, เล่ม ๓๓, ตอน ๐ก, ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙, หน้า ๒๑๒
    3. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต, เล่ม ๔๒, ตอน ๐ ง, ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘, หน้า ๒๗๐๓
    4. ^ ตราราชวงศ์จักรี และพระราชลัญจกร ประจำพระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่าง ๆ จากเว็บไซต์ บ้านฝันดอตคอม
    5. ^ สนเทศน่ารู้  : พระราชลัญจกรประจำรัชกาล, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง


    ที่มา: www.royjaithai.com

    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น