วันจันทร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2556

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

จอมพล ป. พิบูลสงคราม

จอมพล แปลก พิบูลสงคราม


         จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศแปลก พิบูลสงคราม (14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "จอมพล ป." เป็น นายกรัฐมนตรี ที่มีเวลาดำรงตำแหน่ง รวมกันมากที่สุดของไทย คือ 14 ปี 11 เดือน 18 วัน รวม 8 สมัย มีนโยบายที่สำคัญคือ การมุ่งมั่นพัฒนาประเทศไทย ให้มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศ มีการปลุกระดมให้คนไทยรู้สึกรักชาติ โดยออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย "รัฐนิยม" หลายอย่าง ซึ่งบางอย่างได้ประกาศเป็นกฎหมายในภายหลัง หลายอย่างกลายเป็นวัฒนธรรมของชาติ เช่น การรำวง ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย เป็นผู้เปลี่ยนชื่อ "ประเทศสยาม" เป็น "ประเทศไทย" และเป็นผู้เปลี่ยน "เพลงชาติไทย" มาเป็นเพลงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

          คำขวัญที่รู้จักกันดีของนายกรัฐมนตรีผู้นี้คือ "เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย" หรือ "ท่านผู้นำไปไหนฉันไปด้วย" และ "ไทยอยู่คู่ฟ้า" ในสายตานักวิชาการประวัติศาสตร์การเมืองไทยส่วนหนึ่งเห็นว่า จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นผู้เผด็จการทางทหารที่มีบทบาททางการเมืองสูง และให้ความสนใจกับความคิดที่ส่อไปในทางเชื้อชาตินิยมและการปลุกระดมความคลั่งชาติในบางครั้งของจอมพล ป.

ประวัติ

          จอมพล ป. พิบูลสงคราม เดิมชื่อ แปลก ขีตตะสังคะ' เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 เป็นบุตรนายขีด และนางสำอางค์ ขีตตะสังคะ ภริยาคือ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม (เดิมนามสกุล "พันธุ์กระวี")

          จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เข้าศึกษาขั้นต้นที่ โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี จากนั้นได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบก กระทั่งสำเร็จการศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2459 ขณะอายุ 19 ปี โดยได้รับยศร้อยตรี และเข้าประจำการที่กองพลที่ 7 จังหวัดพิษณุโลก จากนั้นไม่นานได้สอบเข้าโรงเรียนเสนาธิการได้เป็นที่ 1 และเดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประเทศฝรั่งเศสและโรงเรียนทหารขั้นสูง ประเทศอิตาลี จนสำเร็จการศึกษา และกลับมารับราชการต่อไป กระทั่งได้ยศพันตรี มีบรรดาศักดิ์และราชทินนาม ที่ "หลวงพิบูลสงคราม"

          เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พันตรี หลวงพิบูลสงครามได้เข้าร่วมกับคณะราษฎร ในเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยได้เป็นกำลังสำคัญในสายทหาร และเมื่อปี พ.ศ. 2477 ท่านได้เลื่อนยศเป็นพันเอก และดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก

          ครั้นเมื่อ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ท่านได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจากพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา โดยการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และในช่วงที่ดำรงตำแหน่งก็ได้เลื่อนยศเป็นพลตรี และเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2484 ภายหลังจากที่กองทัพไทยมีชัยชนะต่ออินโดจีนฝรั่งเศส คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล) ได้ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ แก่พลตรีหลวงพิบูลสงคราม ในเวลาต่อมาเมื่อรัฐบาลยุคนั้นประกาศ รัฐนิยม ก็ได้มีการยกเลิกราชทินนามแบบเก่า ทำให้ท่านใช้ชื่อว่า จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ตั้งแต่นั้นมา โดยนำราชทินนามเดิมมาใช้เป็นนามสกุล

ชีวิตและบทบาททางการเมือง

          จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีชื่อจริงว่า แปลก เนื่องจากเมื่อแรกเกิดบิดามารดาเห็นว่าหูทั้งสองข้างอยู่ต่ำกว่านัยน์ตา ผิดไปจากบุคคลธรรมดา จึงให้ชื่อว่า แปลก เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญ ได้ใช้ชื่อว่า ป. ซึ่งเป็นตัวอักษรย่อเฉกเช่นชื่อของบุคคลสำคัญหลายคนทางประเทศแถบตะวันตก

          จอมพล ป. เป็นหนึ่งในคณะนายทหารผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยเป็นนายทหารรุ่นน้องของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา 2 ปี ที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก มีบทบาทสำคัญเริ่มจากเป็นแกนนำในการรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 และในการปราบกบฏบวรเดชเมื่อปี พ.ศ. 2476 จนได้รับความไว้วางใจ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมา

          นับแต่จอมพล ป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2481 ได้มีนโยบายในการสร้างชาติ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นลัทธิชาตินิยม เช่น ออกกฎหมายคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ มีการสงวนอาชีพบางอย่างไว้เฉพาะคนไทย และปลูกฝังให้ประชาชนนิยมใช้สินค้าไทย ด้วยคำขวัญว่า "ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ" รัฐบาลจอมพล ป. ได้เปลี่ยนแปลงประเพณีและวัฒนธรรมบางอย่าง เพื่อให้สอดคล้องกับการการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และให้เกิดความทันสมัย เช่น ประกาศให้ข้าราชการเลิกนุ่งผ้าม่วง เลิกสวมเสื้อราชปะแตน และให้นุ่งกางเกงขายาวแทน มีการยกเลิกบรรดาศักด์ และยศข้าราชการพลเรือน มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยเริ่มเปลี่ยนในปี พ.ศ. 2484 ทำให้ ปี พ.ศ. 2483 มีเพียง 9

          มีการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมใหม่ โดยจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2485 เพื่อจัดระเบียบการดำเนินชีวิตของคนไทยให้เป็นแบบอารยประเทศ โดยประกาศรัฐนิยมฉบับต่างๆ อาทิ สั่งห้ามประชาชนกินหมากโดยเด็ดขาด ให้ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบน เปลี่ยนมานุ่งผ้าถุงแทน ให้สวมหมวก สวมรองเท้า ไม่ส่งเสริมศิลปะและดนตรีไทยเดิมแต่ส่งเสริมดนตรีสากล ฯลฯ โดยมีคำขวัญในสมัยนั้นว่า "มาลานำไทยสู่มหาอำนาจ" หากผู้หญิงคนใดไม่ใส่หมวกจะถูกตำรวจจับและปรับ และยังวางระเบียบการใช้คำแทนชื่อเป็นมาตรฐาน เช่น ฉัน ท่าน เรา มีคำสั่งให้ข้าราชการกล่าวคำว่า "สวัสดี" ในโอกาสแรกที่พบกัน และมีการตัดตัวอักษรที่ออกเสียงซ้ำกันจึงมีการเปลี่ยนแปลงการสะกดคำมากมาย เช่น กระทรวงศึกษาธิการ เขียนเป็น กระซวงสึกสาธิการ เป็นต้น เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลุดจากอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ รัฐนิยมก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย อักขรวิธีภาษาไทยได้กลับไปใช้แบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ดี วัฒนธรรมที่สังคมไทยเริ่มรับมาจากตะวันตกหลายรูปแบบในขณะนั้น ยังคงอยู่ต่อมาแม้ว่าจะไม่มีการบังคับใช้ตาม "รัฐนิยม" อีกต่อไป และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยสมัยใหม่ไปแล้ว

          ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส จากปัญหาเรื่องการใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งพรมแดน ระหว่างไทยกับอินโดจีน ซึ่งอยู่ในครอบครองฝรั่งเศสมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยฝรั่งเศสไม่ยอมตกลงเรื่องการใช้ร่องน้ำลึกเป็นเส้นเขตแดน ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเมืองนครพนม การรบระหว่างฝรั่งเศสกับไทยจึงเริ่มขึ้น ฝรั่งเศสโจมตีไทยทางอรัญประเทศ รัฐบาล จอมพล ป. ส่งทหารไทยเข้าไปในอินโดจีนทางด้านเขมร แต่ในที่สุดญี่ปุ่นเสนอตัวเข้าไกล่เกลี่ย จนมีการส่งผู้แทนไปลงนามอนุสัญญาโตเกียว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ในครั้งนั้นไทยได้ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืน รวมทั้งทางใต้ตรงข้ามปากเซ คือ แขวงจัมปาศักดิ์ และดินแดนในเขมรที่เสียให้ฝรั่งเศสไปเมื่อปี พ.ศ. 2450 กลับคืนมาด้วย และในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงชัยชนะของไทยต่อฝรั่งเศส และ 1 ปีต่อมา จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2485

          ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีไทย ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการประคับประคองประเทศชาติ ให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้หลายประการ ทั้งนี้มีการบอกเล่ากันว่า ท่านขอพระราชทานยศจอมพลให้กับตนเองเพราะท่านต้องการทำสงครามจิตวิทยากับทางกองทัพญี่ปุ่น หลังสงครามโลกสงบแล้ว ท่านต้องติดคุกระหว่างการถูกไต่สวนในฐานะอาชญากรสงครามอยู่ระยะหนึ่ง ตาม พระราชบัญญัติอาชญากรรมสงคราม ที่รัฐบาลไทยประกาศใช้เป็นกฎหมายหลังสงครามโลก (มีผู้วิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งเพื่อมิให้ต้องส่งตัวผู้นำรัฐบาลและนายทหารไทยในยุคนั้นไปให้ศาลอาชญากรรมสงครามระหว่างประเทศที่สัมพันธมิตรตั้งขึ้นที่โตเกียวและเนือร์นแบร์กพิพากษาคดี แต่ให้ศาลไทยเป็นผู้พิพากษาแทน อย่างไรก็ดี ศาลไทยได้พิจารณาเห็นว่า กฎหมายย่อมไม่มีผลย้อนหลัง จึงปล่อยตัวท่านเป็นอิสระ หลังจากนั้นท่านก็ได้ประกาศยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด กลับไปใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่บ้านที่ อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี โดยปลูกผักต่าง ๆ

          แต่แล้วด้วยความผกผันทางการเมือง ในปี พ.ศ. 2491 ท่านก็ได้หวนกลับมาคืนสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งจากการทำรัฐประหารของกลุ่มนายทหารที่นับถือท่านอยู่ คราวนี้ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 9 ปี ผ่านวิกฤตและเหตุการณ์กบฏจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอดหลายครั้ง เช่น กบฏเสนาธิการ, กบฏวังหลวง, กบฏแมนฮัตตัน รวมทั้งยังเคยยึดอำนาจตัวเองด้วย จึงได้รับฉายาในช่วงที่ยังไม่หลุดจากอำนาจว่า "นายกฯตลอดกาล"

          จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับอีกฉายาหนึ่งว่า "จอมพลกระดูกเหล็ก" เพราะมีชีวิตทางการเมืองอย่างเหลือเชื่อ เคยถูกลอบสังหารมาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ก็รอดชีวิตมาได้ทุกครั้ง แม้กระทั่งในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ที่ท่านถูกจี้ลงเรือศรีอยุธยา ถูกทิ้งระเบิดผ่านเตียงที่ท่านเคยนอนอยู่อย่างเฉียดฉิว ทั้ง ๆ ที่เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนับร้อย จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของท่าน คือ ในเย็นวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เมื่อถูกพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายทหารรุ่นน้องอีกคนหนึ่งที่ท่านไว้ใจและมอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกให้ กระทำการรัฐประหาร ซึ่งท่านได้หลบหนีไปด้วยรถยนต์ส่วนตัวกับผู้ติดตามเพียง 2 คน ไปอย่างหวุดหวิด โดยผ่านไปทางประเทศกัมพูชา ก่อนจะลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ณ ที่นั่น ท่านและครอบครัวได้รับการต้อนรับอย่างดี ทั้งนี้เพราะทางญี่ปุ่นถือว่าเป็นท่านเป็นผู้ที่บุญคุณต่อญี่ปุ่น ซึ่งเคยยินยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านเข้าประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วยดี ไม่ต้องมีการสู้รบยืดเยื้ออันรังแต่จะทำให้มีแต่ความสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งท่านก็ได้พำนักอยู่ที่นั่นจนตราบถึงแก่กรรม

      จอมพล ป. ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ริเริ่มองค์กรและหน่วยงานสำคัญ ๆ ของประเทศหลายองค์กร ที่พัฒนาและเจริญรุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่วยงานที่มีความเฉพาะของแต่ละวิชาชีพ เช่น รัฐวิสาหกิจ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งเป็นผู้ที่ใช้อำนาจยึดสถานที่ต่าง ๆ ที่เคยเป็นที่ประทับของเชื้อพระวงศ์ และที่อยู่ของบุคคลสำคัญก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาใช้เป็นสถานที่ราชการ เช่น วังบางขุนพรหม, บ้านมนังคศิลา, บ้านพิษณุโลก, บ้านนรสิงห์ เป็นต้น

บทบาททางสังคม

ผู้ก่อตั้งโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศ



          หลังจากความคิดของเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ในช่วงปี พ.ศ. 2473-พ.ศ. 2475 ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ว่าต้องการที่จะให้ประเทศสยาม มีกิจการแพร่ภาพออกอากาศโทรทัศน์ ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2475 เป็นผลต้องประสบความล้มเหลวในขณะนั้น อย่างไรก็ดีโทรทัศน์ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ นับเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แพร่ภาพออกอากาศในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ในสมัย ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ซึ่งข้าราชการกลุ่มหนึ่งของกรมประชาสัมพันธ์ แสดงความคิดเห็นเรื่องการจัดตั้งโทรทัศน์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2493 ว่า "ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรมี Television แล้ว"

          วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2493 ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้นำรัฐบาลมอบหมายให้ กรมประชาสัมพันธ์เสนอ "โครงการจัดตั้งวิทยุโทรภาพ" ต่อคณะรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2493 คณะรัฐมนตรีลงมติให้จัดตั้งวิทยุโทรภาพและให้ตั้งงบประมาณใน พ.ศ. 2494

          ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2493 จอมพล ป. เขียนข้อความด้วยลายมือ ถึง พล.ต.สุรจิต จารุเศรณี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น ให้ศึกษาจัดหาและจัดส่ง "Television"

          วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ซึ่งถือเป็นวันชาติในสมัยนั้น จอมพล ป.พิบูลสงครามได้เป็นประธาน ในพิธีเปิดสำนักงาน และที่ทำการสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม และเริ่มแพร่ภาพออกอากาศอย่างเป็นทางการ เรียกชื่อตามอนุสัญญาสากลวิทยุ HS1/T-T.V. สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกบนผืนแผ่นดินใหญ่แห่งเอเชีย เครื่องส่งโทรทัศน์เครื่องนี้มีกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ ขาวดำ ระบบ 525 เส้นต่อภาพ 30 ภาพต่อวินาที (ปัจจุบันออกอากาศระบบวีเอชเอฟ ช่อง 9 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 และในขณะนี้ใช้ชื่อ โมเดิร์นไนน์ทีวี)

ตลาดนัดกรุงเทพมหานคร

          ในปี พ.ศ. 2491 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ประกาศนโยบายจัดตั้งตลาดนัดทั่วประเทศทุกสุดสัปดาห์ ในกรุงเทพฯ มีการจัดตลาดนัดขึ้นที่สนามหลวง ซึ่งเรียกว่า ตลาดนัดสนามหลวง หรือ ตลาดนัดกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน ตลาดนัดสนามหลวงได้ย้ายออกไปจากบริเวณสนามหลวงแล้ว โดยไปอยู่ที่ ตลาดนัดจตุจักร แทน

ชื่อสถานที่อันเนื่องด้วยชื่่อ


1. จังหวัดพิบูลสงคราม อดีตจังหวัดของประเทศไทย
2. มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก
3. หอประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี
4. โรงเรียนชุมชนพิบูลสงคราม จังหวัดนครศรีธรรมราช
5. โรงเรียนพิบูลสงครามอุปถัมภ์ จังหวัดราชบุรี
6. ถนนพิบูลสงคราม จังหวัดนนทบุรี
7. โรงเรียนวัดราษฎร์นิยมธรรม(พิบูลสงคราม) กรุงเทพมหานคร
8. โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร
9. โรงเรียนพิบูลสงเคราะห์๑ จังหวัดลพบุรี
10. โรงเรียนค่ายพิบูลสงคราม จังหวัดลพบุรี
11. โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จังหวัดลพบุรี
12. โรงเรียนสาธิต "พิบูลบำเพ็ญ" มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี
13. สนามยิงปืนพิบูลสงคราม จังหวัดลพบุรี
14. โรงเรียนนครหลวง(พิบูลประเสริฐวิทย์) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
15. ค่ายพิบูลสงคราม กองบัญชาการกองพลทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี
16. พิพิธภัณฑ์จอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใน ศูนย์การทหารปืนใหญ่ จังหวัดลพบุรี
17. สนามกอล์ฟ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายในมณฑลทหารบกที่ 13 จังหวัดลพบุรี
18. โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ กรุงเทพมหานคร

เครื่องราชอิสริยาภรณ์



  • Order of the Nine Gems.JPG เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.)
  • Ratana Varabhorn Order of Merit ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ (ร.ว.)
  • Order of Chula Chom Klao - 1st Class (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้า (ป.จ.)
  • Order of the White Elephant - Special Class (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
  • Order of the Crown of Thailand - Special Class (Thailand) ribbon.png เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
  • Bravery Medal with wreath (Thailand) ribbon.png เหรียญกล้าหาญ
  • Victory Medal - World War 2 (Thailand).png เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา
  • Victory Medal - Indochina with flames (Thailand).png เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามอินโดจีน
  • Dushdi Mala - Military (Thailand).png เหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน
  • Dushdi Mala - Civilian (Thailand).png เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
  • Medal for Service in the Interior - Asia (Thailand) ribbon.png เหรียญช่วยราชการเขตภายใน
  • Border Service Medal (Thailand) ribbon.png เหรียญราชการชายแดน
  • Chakra Mala Medal (Thailand) ribbon.png เหรียญจักรมาลา
  • King Rama IV Royal Cypher Medal (Thailand) ribbon.png เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 1 (อ.ป.ร.1)
  • King Rama IX Royal Cypher Medal (Thailand) ribbon.png เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 (ภ.ป.ร.1)


ที่มา : th.wikipedia.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น