วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2556

กรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานคร

ตราประจำกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง
เมืองศูนย์กลางการปกครอง
วัดวังงามเรืองรอง
เมืองหลวงของประเทศไทย



          กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวง และเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา การคมนาคมขนส่ง การเงินการธนาคาร การพาณิชย์ การสื่อสาร และความเจริญของประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลกอีกด้วย มีแม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ทำให้แบ่งเมืองออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี โดยกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ทั้งหมด 1,568.737 ตารางกิโลเมตร

ที่ตั้ง กรุงเทพมหาคร ในประเทศไทย

          กรุงเทพมหานครเป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศไทย มิได้มีสถานะเป็นจังหวัด คำว่า กรุงเทพมหานคร นั้นยังใช้เรียกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครอีกด้วย ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง

กรุงเทพมหานคร

          เนื่องจากประเทศไทยมีบทบาทด้านวัฒนธรรม สมัยนิยม และการบันเทิงมากขึ้นในการเมืองโลก มหาวิทยาลัยลัฟเบอเรอะ (Loughborough University) จึงจัดกรุงเทพมหานครว่าเป็นนครโลกระดับแอลฟาลบ กรุงเทพมหานครมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น พระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งวิมานเมฆและวัดต่าง ๆ ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 10 ล้านคนในแต่ละปี นับเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากที่สุดรองแต่เพียงกรุงลอนดอนเท่านั้น

กรุงเทพมหานครจากภาพถ่ายดาวเทียม

          ในสมัยอาณาจักรอยุธยา บางกอก (กรุงเทพมหานคร) ยังเป็นเพียงสถานีการค้าขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาในปี พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ ฝั่งธนบุรี จึงได้ชื่อว่า กรุงธนบุรี และในปี พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงย้ายเมืองหลวงมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ คือ ฝั่งพระนคร จึงได้ชื่อว่า กรุงรัตนโกสินทร์


ชื่อเมือง




          คำว่า กรุงเทพมหานคร แปลว่า "พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร" มาจากชื่อเต็มว่า กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ มีความหมายว่า พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคง และเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้ พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้

          โดยนามเดิมที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โปรดเกล้าฯ พระราชทานในตอนแรกนั้น ใช้ชื่อว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” ต่อมาในในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทรงแก้นามพระนครเป็น “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินท์ มหินทอยุธยา” จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงเปลี่ยนคำว่า บวร เป็น อมร เปลี่ยนคำว่า มหินทอยุธยา โดยวิธีการสนธิศัพท์เป็น มหินทรายุธยา และเติมสร้อยนามต่อ ทั้งเปลี่ยนการสะกดคำ สินท์ เป็น สินทร์ จนเป็นที่มาของชื่อเต็มของกรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพฯ) ข้างต้น

          ชื่อทางการของกรุงเทพมหานครเมื่อถอดเป็นอักษรโรมัน คือ "Krung Thep Maha Nakhon" แต่คนทั่วไปนิยมทับศัพท์ตามชื่อที่ผู้พูดภาษาอังกฤษเรียกเมืองนี้ว่า "Bangkok" ซึ่งมาจากชื่อเดิมของกรุงเทพมหานคร คือ "บางกอก"

          กรุงเทพมหานครได้ชื่อว่าเมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลกบันทึกไว้ในกินเนสส์บุ๊ก แปลความเป็นภาษาอังกฤษว่า "City of angels, great city of immortals, magnificent city of the nine gems, seat of the king, city of royal palaces, home of gods incarnate, erected by Visvakarman at Indra's behest."

          ชื่อเต็มของกรุงเทพมหานคร เมื่อถอดเป็นอักษรโรมัน คือ "Krungthepmahanakhon Amonrattanakosin Mahintharayutthaya Mahadilokphop Noppharatratchathaniburirom Udomratchaniwetmahasathan Amonphimanawatansathit Sakkathattiyawitsanukamprasit" ซึ่งเป็นชื่อสถานที่ที่ยาวที่สุดในโลกและได้จดบันทึกไว้ในกินเนสบุ๊ค (169 ตัวอักษร) ยาวกว่าชื่อภูเขา "ตาอูมาตาวากาตังกีฮังกาโกอาอูอาอูโอตามาทีอาโปกาอีเวนูอากีตานาตาฮู" ("Taumatawhakatangihangakoauauotamateaturipukakapikimaungahoronukupokaiwhenuakitanatahu") (85 ตัวอักษร) ในนิวซีแลนด์ และชื่อทะเลสาบ "ชาร์ก็อกกาก็อกมานชาอ็อกกาก็อกเชาบูนากุนกามาอัก" ("Chargoggagogg­manchauggagogg­chaubunagungamaugg") (45 ตัวอักษร) ในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

แผนที่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17 ใน Du Royaume de Siam ของ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์


สัญลักษณ์ประจำกรุงเทพมหานคร




          ตราของกรุงเทพมหานคร เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระหัตถ์ทรงสายฟ้า ตรานี้กรมศิลปากรออกแบบโดยอาศัยภาพเขียนฝีพระหัตถ์ของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เป็นต้นแบบ เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2516 ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 ฉบับที่ 60 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 (สมัยเมื่อยังเป็นจังหวัดพระนครนั้นใช้ตราพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นตราประจำจังหวัด)

          ต้นไม้ประจำกรุงเทพมหานคร คือ ต้นไทรย้อยใบแหลม (Ficus benjamina)

          คำขวัญของกรุงเทพมหานคร คือ "กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัด วัง งามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย" หลังกรุงเทพมหานครสรุปยอดคะแนนโหวตคำขวัญกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

การบริหาร


          ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดให้กรุงเทพมหานครมีสถานะเป็นนิติบุคคล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงาน อยู่ในตำแหน่งตามวาระคราวละสี่ปี นับแต่วันเลือกตั้ง โดยมีฝ่ายนิติบัญญัติ คือสภากรุงเทพมหานคร ที่ได้รับการเลือกตั้งจากชาวกรุงเทพมหานครเช่นกัน ดำเนินงานร่วมด้วย

ตราประจำจังหวัดพระนคร


          ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันคือ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีสี่คนได้แก่ แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ (ฝ่ายการแพทย์และการสาธารณสุข), ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ (ฝ่ายการขนส่ง, วิศวกรรมโยธา และสำนักงบประมาณ กรุงเทพมหานคร), ดร.วัลลภ สุวรรณดี (ฝ่ายการออกแบบชุมชนเมือง) และทยา ทีปสุวรรณ (ฝ่ายการปกครอง วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และกีฬา) ส่วนปลัดกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันคือ นินนาท ชลิตานนท์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555 และรองปลัดกรุงเทพมหานครได้แก่อรรถพร สุวัธนเดชา สัญญา ชีนิมิต กฤษฎา กลันทานนท์ มานิต เตชอภิอภิโชค จุมพล สำเภาพล พีระพงษ์ สายเชื้อดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2555 สำหรับผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนปัจจุบันคือ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง และมีรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลทั้งหมด 12 นาย ที่ทำการตั้งอยู่ที่วังปารุสกวัน ทำหน้าที่ควบคุมดูแลเหตุอาชญากรรมในกรุงเทพมหานคร

การแบ่งเขตการปกครอง



          รายชื่อเขต 50 เขตของกรุงเทพมหานคร
เขตพระนคร
เขตดุสิต
เขตหนองจอก
เขตบางรัก
เขตบางเขน
เขตบางกะปิ
เขตปทุมวัน
เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
เขตพระโขนง
เขตมีนบุรี
เขตลาดกระบัง
เขตยานนาวา
เขตสัมพันธวงศ์
เขตพญาไท
เขตธนบุรี
เขตบางกอกใหญ่
เขตห้วยขวาง
เขตคลองสาน
เขตตลิ่งชัน
เขตบางกอกน้อย
เขตบางขุนเทียน
เขตภาษีเจริญ
เขตหนองแขม
เขตราษฎร์บูรณะ
เขตบางพลัด
เขตดินแดง
เขตบึงกุ่ม
เขตสาทร
เขตบางซื่อ
เขตจตุจักร
เขตบางคอแหลม
เขตประเวศ
เขตคลองเตย
เขตสวนหลวง
เขตจอมทอง
เขตดอนเมือง
เขตราชเทวี
เขตลาดพร้าว
เขตวัฒนา
เขตบางแค
เขตหลักสี่
เขตสายไหม
เขตคันนายาว
เขตสะพานสูง
เขตวังทองหลาง
เขตคลองสามวา
เขตบางนา
เขตทวีวัฒนา
เขตทุ่งครุ
เขตบางบอน

แผนที่แสดง 50 เขตในกรุงเทพฯ และกลุ่มพื้นที่เขตตามนโยบายการพัฒนาเมือง


ประชากร


          ปี พ.ศ. 2554 กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นอันดับที่ 13 ของโลก ทั้งนี้เนื่องจากประชากรในกรุงเทพมหานครนั้นมีทั้งที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ประชาชนจากต่างจังหวัดซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนราษฎรที่กรุงเทพมหานครจำนวนมาก

          ปี พ.ศ. 2553 เขตจตุจักรเป็นเขตที่มีประชากรมากที่สุดของกรุงเทพมหานคร 331,568 ราย รองลงมา คือ เขตลาดกระบัง 298,660 ราย และเขตบางแค 290,321 ราย กรุงเทพมหานครมีชาวญี่ปุ่นพำนักอยู่ในกรุงเทพมหานครกว่า 4,400 คน ซึ่งเป็นเมืองที่มีชาวญี่ปุ่นพำนักอยู่นอกประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด ส่วนชาวต่างชาติที่อาศัยในกรุงเทพมหานครอันดับหนึ่ง ได้แก่ ชาวจีน กว่า 250,000 ราย

เศรษฐกิจ



          กรุงเทพมหานครมีรายได้หลักจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยในอดีตที่ผ่านมารายได้นี้มีมากกว่าเงินที่รัฐบาลสนับสนุน

          กรุงเทพมหานครเป็นเมืองเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศร้อยละ 25 มาจากรุงเทพมหานคร ซึ่งมาจากการค้าปลีกและค้าส่งมากที่สุด ร้อยละ 24.31 รองลงมาได้แก่ อุตสาหกรรมโรงงาน ร้อยละ 21.23 อุตสาหกรรมขนส่งและอุตสาหกรรมสื่อสาร ร้อยละ 13.89 โรงแรมและภัตตาคาร ร้อยละ 9.04

          กรุงเทพมหานครยังเป็นอีกเมืองหนึ่งที่กลุ่มทุนข้ามชาติต้องการเข้ามาทำธุรกิจในกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง โดยใน พ.ศ. 2529 บริษัทญี่ปุ่นต่างๆ ได้ดำเนินการอย่างจริงจังในการเคลื่อนไหวที่จะย้ายฐานการผลิตออกสู่ต่างประเทศ เป้าหมายหนึ่งคือ ที่กรุงเทพมหานคร

           จากการขยายธุรกิจของต่างชาติส่งผลให้มีการจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาความแออัดในกรุงเทพมหานครมากขึ้น แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ถูกยกเป็นข้อสนับสนุนและเป็นหลักฐานว่า กรุงเทพมหานครกำลังเผชิญกับภาวะการขาดแคลนแรงงานเพราะโครงสร้างประชากรในวัยทำงานลดน้อยลง

          การคมนาคมเข้าสู่กรุงเทพมหานครมีมากกว่าจังหวัดอื่น เช่นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง รวมถึงถนนในกรุงเทพมหานครที่มีจำนวน 451 สาย กรุงเทพมหานครเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางชัน นิคมอุตสาหกรรมอัญธานี โครงการ 2 และ นิคมอุตสาหกรรมอัญธานี
ในปี พ.ศ. 2552 เป็นปีแรกในรอบห้าปีที่โครงสร้างเศรษฐกิจกรุงเทพมหานครหดตัวลงยกเว้นภาคธนาคารและภาคบริหารภาครัฐ

ในปี พ.ศ. 2554 กรุงเทพมหานครเป็นนครที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับ 22 ของเอเชียและอันดับ 140 ของโลก ในขณะที่กรุงเทพฯได้อันดับค่าครองชีพแพงที่สุดของโลกเป็นอันดับที่อันดับ 66 โดยอีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) หน่วยงานวิจัยในเครือ อีโคโนมิสต์ กรุ๊ป รายงานการจัดอันดับเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกประจำปีพ.ศ. 2554

พลังงาน


          ใน พ.ศ. 2555 กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแรกในประเทศที่เปิดสถานีพลังงานสีเขียวโดยใช้พลังงานทดแทนโดยความร่วมมือจากบริษัท บางจากปิโตรเลียม

การศึกษา

          กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางการศึกษาของประเทศ มีสถาบันอุดมศึกษาตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มหาวิทยาลัยทั้งของภาครัฐและเอกชนตั้งอยู่ในหรือรอบ ๆ เมืองหลวง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒปัญญาชนต่างๆของประเทศล้วนมาจากการบ่มเพาะทั้งศาสตร์และศิลป์ จากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำในระดับอุดมศึกษาของกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ปูรากฐานให้นักคิดมาเกือบศตวรรษ กว่าทศวรรษที่ผ่านมา แนวโน้มของการใฝ่หาการศึกษาระดับปริญญาทำให้เกิดมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักเรียนไทย กรุงเทพมหานครไม่กลายเป็นเพียงสถานที่ที่ผู้อพยพและคนต่างจังหวัดแสวงหาโอกาสในการทำงาน แต่ยังเป็นโอกาสที่จะได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหงก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2514 เป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชาเพียงแห่งเดียวในประเทศ แต่ก็มีการลงทะเบียนเรียนของนักศึกษาสูงที่สุดเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ของไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นหนึ่งในวิธีที่รัฐบาลไทยใช้จัดการกับการเพิ่มขึ้นของความต้องการการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ความต้องการในการศึกษาระดับสูงได้นำไปสู่​​การก่อตั้งมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอื่น ๆ อีกมากมายในเขตเมือง วิทยาลัยอาชีวและวิทยาลัยเทคนิคก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในปีที่ผ่านมา สถาบันเอกชนจำนวนมากได้ริเริ่มจัดตั้งโปรแกรมการแลกเปลี่ยนและหลักสูตรสองปริญญากับสถาบันจากตะวันตกขึ้นในกรุงเทพ การเพิ่มขึ้นของจำนวนโรงเรียนที่มีหลักสูตรอินเตอร์ได้ช่วยยกระดับมาตรฐานการแข่งขันของสถาบันของรัฐให้สามารถแข่งขันกับเอกชนได้ นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาอีกหลายแห่ง

ตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ที่มา : th.wikipedia.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น