วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจักรีบรมนาถฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ. 2279 - พ.ศ. 2352 ครองราชย์ พ.ศ. 2325 - พ.ศ. 2352) รัชกาลที่ 1 แห่งราชจักรีวงศ์ เสด็จพระบรมราชสมภพเมื่อ วันพุธ เดือน 4 แรม 5 ค่ำ ปีมะโรงอัฐศก เวลา 3 ยาม ตรงกับวันที่ 30 มีนาคม พุทธศักราช 2279 ในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นบุตรคนที่ 4 ของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (พระนามเดิม "ทองดี") และพระอัครชายา (พระนามเดิม "หยก"หรือ ดาวเรือง) ทรงมีพระเชษฐา พระเชษฐภคิณี พระอนุชาร่วมพระชนก ประกอบด้วย
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี(นามเดิมว่า สา) พระเชษฐภคินีพระองค์ใหญ่
  • พระเจ้ารามณรงค์ (บรรดาศักดิ์สมัยกรุงศรีอยุธยาว่าเป็นที่ ขุนรามณรงค์) พระเชษฐา
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (นามเดิมว่า แก้ว) พระเชษฐภคินีพระองค์น้อย
  • พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (นามเดิมว่า ทองด้วง)
  • สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (นามเดิมว่า บุญมา) พระอนุชา
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าลา กรมหลวงจักรเจษฎา (นามเดิมว่า ลา) พระอนุชา ต่างพระชนนี
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุ กรมหลวงนรินทรเทวี (นามเดิมว่า กุ) พระขนิษฐา ต่างพระชนนี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 (ตรงกับ วันเสาร์ เดือน 5 แรม 9 ค่ำ ปีขาล จัตราศก จุลศักราช 1144) ขณะมีพระชนมายุได้ 45 พรรษา

พระนามเต็ม

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระนามเต็มว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช
รัตนากาศภาศกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยคโรมนต์ สกลจักรวาลาธิเมนทรต์ สุริเยนทราธิบดินทร์
หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์ คุณอกณิฐ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิเบศร์ โลกเชฐวิสุทธิ์ รัตนมงกุฏประเทศคตา มหาพุทธางกูร บรมบพิตร"

พระราชโอรส พระราชธิดา

เมื่อครั้งที่ทรงดำรงตำแหน่งหลวงยกบัตรเมืองราชบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมรสกับคุณนาค ธิดาของคหบดีใหญ่ตำบลอัมพวา แขวงเมืองสมุทรสงคราม ต่อมาเมื่อขึ้นครองราชย์ แม้จะมิได้ทรงโปรดให้สถาปนายกย่องขึ้นเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่คนทั้งปวงก็เข้าใจว่าท่านผู้หญิงนาค เอกภรรยาดั้งเดิมนั้นเองที่อยู่ในฐานะสมเด็จพระอัครมเหสี จึงพากันขนานพระนามว่า สมเด็จพระพันวษา หรือสมเด็จพระพรรษา ตามอย่างการขนานพระนามสมเด็จพระอัครมเหสีตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ทรงมีพระราชโอรส และพระราชธิดาที่ประสูติแต่สมเด็จพระพันวษา พระอัครมเหสี 10 พระองค์ คือ
  • สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชาย (ไม่ปรากฏพระนาม)
  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิง (ไม่ปรากฏพระนาม)
  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงฉิมใหญ่ (บางแห่งพระนามเดิมว่า หวาน)
  • พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร - พระนามเดิมว่า ฉิม)
  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าแจ่มกระจ่างฟ้า กรมหลวงศรีสุนทรเทพ (พระนามเดิมว่า แจ่ม)
  • สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ (นามเดิมว่า จุ้ย)
  • สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี (พระนามเดิมว่า เอี้ยง)
  • เจ้าฟ้า (ไม่ปรากฏพระนาม)
  • เจ้าฟ้า (ไม่ปรากฏพระนาม)
  • เจ้าฟ้า (ไม่ปรากฏพระนาม)


ประสูตินอกพระมหาเศวตฉัตร
ตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ ๑ รูปอุณาโลม ผูกตรานี้ขึ้นในวโรกาสกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๑๐๐ ปี

ลำดับประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญ ในรัชสมัยของพระองค์
  • พ.ศ. ๒๓๒๕
    • ขึ้นครองราชย์
    • สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานี
    • โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าขึ้นเป็นที่ พระมหาอุปราชฝ่ายหน้า
    • โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้าทองอิน ขึ้นเป็นที่ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศน์ กรมพระราชวังบวรสถานภิมุขฝ่ายหลัง'
    • องเชียงสือ (ญวน) และนักองค์เอง (เขมร) ขอเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภาร
    • โปรดให้อาลักษณ์คัดนิทานอิหร่านราชธรรม
  • พ.ศ. ๒๓๒๖
    • กำหนดระเบียบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
    • ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอุณรุท
    • เริ่มงานสร้างพระนคร ขุดคูเมืองทางฝั่งตะวันออก สร้างกำแพงและป้อมปราการรอบพระนคร
    • สร้างพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  • พ.ศ. ๒๓๒๗
    • โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากหอพระแก้วในพระราชวังเดิม แห่ข้ามมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถในพระราชวังใหม่ ทรงพระราชทานนามพระอารามว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    • โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสาชิงช้า
    • สงครามเก้าทัพ พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าทรงกรีธาทัพเข้ามาตีเมืองไทยตั้งแต่เหนือ จดใต้ รวม ๙ ทัพ กองทัพไทยตีกองทัพพม่าแตกพ่ายยับเยินไปทุกทัพ
  • พ.ศ. ๒๓๒๘
    • งานสร้างพระนครและปราสาทราชมณเฑียรสำเร็จเสร็จสิ้น
    • พระราชทานนามของราชธานีใหม่
  • พ.ศ. ๒๓๒๙
    • สงครามรบพม่าที่ท่าดินแดง
    • ทรงพระราชนิพนธ์ นิราศรบพม่าท่าดินแดง
    • โปรตุเกสขอเข้ามาเจริญพระราชไมตรี
    • อังกฤษเช่าเกาะปีนัง จากพระยาไทรบุรี
  • พ.ศ. ๒๓๓๐
    • องเชียงสือเขียนหนังสือขอถวายบังคมลา ลอบหนีไปกู้บ้านเมือง
    • อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานภายในพระราชวังบวรสานมงคล
  • พ.ศ. ๒๓๓๑
    • โปรดเกล้าฯ ให้สังคายนาพระไตรปิฎก ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
  • พ.ศ. ๒๓๓๓
    • องเชียงสือกู้บ้านเมืองสำเร็จและจัดต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองมาถวาย
  • พ.ศ. ๒๓๓๗
    • ทรงอภิเษกให้นักองค์เอง เป็น สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ไปครองกรุงกัมพูชา
  • พ.ศ. ๒๓๓๘
    • โปรดเกล้าฯ ให้ชำระพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทานุมาศ
    • โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาพิชัยราชรถ
  • พ.ศ. ๒๓๓๙
    • งานสมโภชพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
  • พ.ศ. ๒๓๔๐
    • ทรงพระราชนิพนธ์บทละคร เรื่อง รามเกียรติ์
  • พ.ศ. ๒๓๔๒
    • โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเวชยันตราชรถ
  • พ.ศ. ๒๓๔๔
    • ฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และวัดสระเกศ
    • ฟื้นฟูการเล่นสักวา
  • พ.ศ. ๒๓๔๕
    • ราชาภิเษกพระเจ้าเวียตนามญาลอง (องเชียงสือ)
  • พ.ศ. ๒๓๔๗
    • โปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ ราชบัณฑิต ชำระกฎหมาย จัดเป็นประมวล กฎหมายตราสามดวง ขึ้น
  • พ.ศ. ๒๓๔๙
    • ทรงอภิเษกให้ นักองค์จันทร์ เป็น สมเด็จพระอุทัยราชา ครองกรุงกัมพูชา
  • พ.ศ. ๒๓๕๐
    • เริ่มสร้างวัดสุทัศน์เทพวราราม
  • พ.ศ. ๒๓๕๒*
    • ได้ริเริ่มให้มีการสอนพระปริยัติธรรมในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนตามวังเจ้านายและบ้านเรือนของข้าราชการผู้ใหญ่ ทรงตรากฎหมายคณะสงฆ์ขึ้น เพื่อจัดระเบียบการปกครองของสงฆ์ให้เรียบร้อย ทรงโปรดเกล้าฯให้มีการสอบพระปริยัติธรรม ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสถาปนาพระสังฆราช (ศรี) เป็นสมเด็จพระสังฆราช
  • สวรรคต


ที่มา: http://www.royjaithai.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น